วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

วิธีการแสวงหาความรู้ของมนุษย์

ธรรมชาติของมนุษย์ส่วนใหญ่ต้องการที่จะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของตนให้ดีขึ้นซึ่งเหตุนี้จึงเป็นแรงกระตุ้นให้มนุษย์มีความอยากรู้ อยากเห็น อยากเข้าใจในปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในธรรมชาติและสิ่งที่อยู่รอบตัวเองวิธีการแสวงหาความรู้ความจริงของมนุษย์โดยทั่วไปมีดังนี้
1. การแสวงหาความรู้ความจริงโดยไม่อาศัยเหตุผลเป็นการแสวงหาความรู้ ความจริงอย่างง่าย ๆ โดยมากมักจะเป็นความจริงส่วนบุคคล(Personal Facts) เช่น
- ความรู้จากประสบการณ์ส่วนบุคคล ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ของแต่ละบุคคลอาจจะเป็นความรู้ที่ได้จากการสะสมขึ้นมาเองหรือแสวงหาความรู้แบบบังเอิญ เช่นเด็กเล็ก ๆ เอานิ้วมือไปใกล้ไฟมากๆ ก็จะเกิดการเรียนรู้ว่าไฟร้อน หรือได้ความรู้มาโดยการลองผิดลองถูกเช่น มีบาดแผลเลือดไหล ลองขยี้ใบไม้ชนิดต่าง ๆ มาปิดแผลถ้าใบไม้ชนิดใดห้ามเลือดได้ ก็จะเกิดความรู้ใหม่ ซึ่งได้จากการลองผิดลองถูก - ความรู้จากบุคคลอื่นเช่น โดยประเพณีและวัฒนธรรม โดยมีผู้รู้บอก ให้หรือโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้บอก การแสวงหาความรู้ของมนุษย์โดยไม่อาศัยเหตุผลอาจจะเป็นไปได้ทั้งความรู้ที่ถูกและความรู้ ที่ผิดไปจากความเป็นจริงที่ได้ และในขณะเดียวกันความรู้นั้น ถ้าเป็นการถ่ายทอดกันมาก็ไม่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่เพิ่มเติม
2. การแสวงหาความรู้ความจริงโดยอาศัยเหตุผลเป็นการแสวงหาความรู้ความจริงซึ่งมักจะเน้นความจริงทั่วไป (Public Facts)เช่น
2.1 วิธีอนุมาน(Deductionmethod) เป็นการหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล ระหว่างข้อเท็จจริงใหญ่และข้อเท็จจริงย่อย แล้วจึงลงสรุปจากความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริงใหญ่และย่อย ตัวอย่างเช่น
ข้อเท็จจริงใหญ่ : คนทำวิจัยได้ทุกคนมีความสามารถด้านการวิเคราะห์ และด้านการสังเคราะห์ ข้อเท็จจริงย่อย : นายอนันต์ ทำวิจัยได้
สรุป : นายอนันต์ มีความสามารถด้านการวิเคราะห์ และการสังเคราะห์ การใช้วิธีอนุมานถูกโจมตีว่าไม่ได้สร้างความรู้ใหม่ อีกทั้งข้อสรุปจะเป็นจริงก็ต่อเมื่อข้อเท็จจริงใหญ่และข้อเท็จจริงย่อยเป็นจริงดังนั้น ผู้ที่จะนำเอาวิธีอนุมานไปใช้ถ้าขาดความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่นำมาอ้างก็จะทำให้สรุปผิดได้แต่วิธีอนุมานยังมีประโยชน์ต่อการวิจัยบ้าง ในเรื่องการตั้งสมมติฐาน วางแผนเก็บข้อมูลเป็นต้น
2.2 วิธีอุปมาน(Induction method) เป็นวิธีย้อนกลับกับวิธีอนุมาน นั่นคือเป็นวิธีการค้นหาความรู้ความจริงจากข้อเท็จจริงย่อยๆ โดยพิจารณาสิ่งที่เหมือน กัน ต่างกัน สัมพันธ์กัน แล้วจึงสรุปเป็นข้อเท็จจริงใหญ่ตัวอย่างเช่น
ข้อเท็จจริงย่อย : คนที่เป็นโรคเอดส์แต่ละคนรักษาไม่หายในที่สุดจะตายทุกคน
ดังนั้น : กลุ่มคนที่เป็นโรคเอดส์ต้องตายทุกคน
ข้อบกพร่องของวิธีอุปมาน คือ หากเก็บรวบรวมข้อมูลหรือข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนก็จะทำให้การลงสรุปความรู้ใหม่ผิดพลาดไป
2.3 วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) ถือว่าเป็นวิธีสืบแสวงหาความรู้ของมนุษย์สมัยใหม่และเป็นที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน ซึ่งประ-กอบด้วย 5 ขั้นตอนดังนี้
1) ขั้นปัญหา (Problem) เป็นการกำหนดลงไปว่า ปัญหาที่ แท้จริงคืออะไร
2) ขั้นตั้งสมมุติฐาน (Hypothesis) เป็นการคาดคะเนคำตอบที่คิดว่าน่าจะเป็นอย่างมี เหตุผล
3) ขั้นเก็บรวบรวมข้อมูล (Collection of data) เป็นขั้นรวบรวมข้อมูลหรือหลักฐาน
4) ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis of data) เพื่อทดสอบสมมุติฐานที่ตั้งขึ้นมา
5) ขั้นสรุป (Conclusion) เป็นการสรุปว่าข้อเท็จจริงของปัญหาคืออะไร
วิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นวิธีที่น่าเชื่อถือมากที่สุด นักวิจัยจึงยึดถือและปฏิบัติตามลำดับขั้นของวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น