วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ประเภทของการวิจัย

งานวิจัยแบ่งออกได้หลายประเภท ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้เกณฑ์อะไรในการจัดประเภทในที่นี้ขอกล่าวถึงประเภทของงานวิจัยเมื่อใช้เกณฑ์ 4 ประเภท ดังนี้
1. แบ่งตามประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัยแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
1.1 การวิจัยพื้นฐานหรือการวิจัยบริสุทธิ์(Pure Research) เป็นการวิจัยที่ไม่ได้มุ่งที่จะนำผลของการวิจัยไปใช้ให้เป็นประโยชน์ทันทีในชีวิตจริงแต่มีความต้องการที่จะให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่ ข้อเท็จจริงพื้นฐานทางทฤษฎีหรือกฎที่เกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ที่ศึกษาเป็นการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์เป็นเป้าหมายหลัก
1.2 การวิจัยประยุกต์(Applied Research) เป็นการวิจัยที่มุ่งนำผลการวิจัยไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติเช่น เพื่อนำไปแก้ปัญหา เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจเพื่อนำไปพัฒนาโครงการเป็นต้น
2. แบ่งตามลักษณะวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบ่งได้ 2 ประเภทคือ
2.1 การวิจัยเชิงปริมาณ(Quantitative Research) เป็นการวิจัยที่มุ่งหาข้อเท็จจริงและข้อสรุปเชิงปริมาณ เน้นการใช้ข้อมูลที่เป็นตัวเลขเป็นหลักฐานยืนยันความถูกต้องของข้อค้นพบ และสรุปต่างๆ มีการใช้เครื่องมือที่มีความเป็นปรนัยในการเก็บรวบรวมข้อมูลเช่น แบบสอบถามแบบทดสอบ การสังเกต การสัมภาษณ์ การทดลอง เป็นต้น
2.2 การวิจัยเชิงคุณภาพ(Qualitative Research) เป็นการวิจัยที่นักวิจัยจะต้องลงไปศึกษาสังเกต และกลุ่มบุคคลที่ต้องการศึกษาโดยละเอียดทุกด้านในลักษณะเจาะลึก ใช้วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการเป็นหลักในการเก็บรวบรวมข้อมูลการวิเคราะห์ข้อมูลจะใช้การวิเคราะห์เชิงเหตุผลไม่ได้มุ่งเก็บเป็นตัวเลขมาทำการวิเคราะห์
3. แบ่งตามประเภทของศาสตร์ แบ่งได้2 ประเภท คือ
3.1 การวิจัยทางวิทยาศาสตร์(SciencesResearch) เป็นการวิจัยที่เน้นในเรื่องของการทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและวัตถุต่างๆ รวมทั้งมุ่งนำเอาความรู้ที่ได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น งานวิจัยทางด้านการแพทย์อุตสาหกรรม เคมี ชีววิทยา เป็นต้น
3.2 การวิจัยทางสังคมศาสตร์(Social Research) เป็นการวิจัยที่เน้นในเรื่องการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์รวมทั้งสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ เช่น การวิจัยทางการศึกษา เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม การเมืองการปกครอง เป็นต้น
4. แบ่งตามระเบียบวิธีวิจัย
ระเบียบวิธีวิจัยหมายถึง แบบแผนในการวิจัยซึ่งประกอบด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูล และ การวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อตอบปัญหาที่ทำการวิจัยการแบ่งประเภทของการวิจัยตามระเบียบวิธีวิจัยนี้เป็นที่นิยมใช้กันมากซึ่งแบ่งได้ 3 ประเภทคือ
4.1 การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์(Historical Research) เป็น การวิจัยที่มุ่งแสวงหาคำตอบให้กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตโดยศึกษาจากหลักฐานต่าง ๆ ที่ยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน ผู้วิจัยจะต้องนำเอาข้อมูลที่เกี่ยวกับเหตุการณ์แนวคิดต่าง ๆ ที่ค้นพบ มาประมวล แปลความ วิเคราะห์และสังเคราะห์ ตัวอย่างเช่น - ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศอินเดีย พ.ศ.2493-2529
-พัฒนาการของห้องสมุดประชาชนในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ.2459-2532
4.2 การวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) เป็น การวิจัยที่ค้นหาความจริงโดยอาศัยการทดลองเพื่อให้ได้คำตอบในเชิงเหตุผลว่ามี สิ่งใดเป็นเหตุ สิ่งใดเป็นผลที่เกิดตามมา การวิจัยประเภทนี้จะมีการควบคุมตัวแปรที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทดลอง ตัวอย่างเช่น
- การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาฟิสิกส์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่4 ระหว่างกลุ่มที่เรียนโดยอ่านบทเรียนก่อนและหลังการเรียน (ธนัฐ กรอบทอง.)
- การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเรื่อง กฎและวงจรไฟฟ้ากระแสตรง ที่เรียนจากหน่วยการ เรียนกับการสอนปกติ
4.3 การวิจัยเชิงบรรยาย(Descriptive Research) เป็นการวิจัยที่มุ่งค้นหาคำตอบ คำอธิบาย ของสภาพการณ์หรือเรื่องราวใด ๆ ที่อยู่ในช่วงปัจจุบันที่กำลังมีการวิจัยโดยชี้ให้เห็นว่าปรากฏการณ์นั้นเป็นอย่างไร เช่น เกิดขึ้นบ่อยครั้งเพียงใดมีลักษณะที่สำคัญ ๆ อะไรบ้าง สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทย่อย คือ
4.3.1 การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Studies) เป็นการศึกษาเพื่อที่จะรวบรวมข้อเท็จจริงต่างๆ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งในช่วงปัจจุบันที่มีการเก็บข้อมูลโดยนำข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อมูลพื้นฐานของหน่วยงานในการวางแผนหรือปรับปรุงสภาพที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นตัวอย่างเช่น
- ความคิดเห็นของครู-อาจารย์ที่มีต่อการจัดโครงการ อาหารกลางวัน
- การสำรวจประชามติ (public opinion survey) เช่น สำรวจความนิยมของประชาชนที่มีต่อการบริหารงานของรัฐบาล
- การวิเคราะห์งาน (job analysis) เป็นการศึกษารายละเอียดของงาน
- การวิเคราะห์เอกสาร (documentary analysis) เป็นการศึกษารายละเอียดของเอกสารในปัจจุบันเช่น หนังสือแบบเรียน หลักสูตร
4.3.2 การวิจัยเชิงความสัมพันธ์ (Correlational Studies) เป็นการวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรของปรากฏการณ์หรือพฤติกรรมต่างๆ แบ่งเป็น 3 แบบ คือ
ก. การศึกษาเฉพาะกรณี (Case studies) เป็นการศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อให้ทราบรายละเอียดทุกแง่ทุกมุมเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ
ข. การศึกษาเปรียบเทียบ (Causal comparative studies) การศึกษาแบบนี้ยังไม่เป็นการทดลองเป็นเพียงการศึกษาผลที่ปรากฏว่ามีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง ไม่มีการควบคุมตัวแปร
ค. การศึกษาเชิงสหสัมพันธ์(Correlation studies) เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร2 ตัวขึ้นไปว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่
4.3.3 การศึกษาพัฒนาการ (Developmental Studies) เป็นการวิจัยในลักษณะเฝ้าติดตามดูความเจริญเติบโตหรือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งใด ๆ ที่ฝันแปรไปตามเวลา แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
ก. การศึกษาภาวะการเจริญเติบโต (Growth studies) เช่นการศึกษาพัฒนาการทางร่างกายของเด็กก่อนวัยเรียนเป็นต้น
ข. การศึกษาแนวโน้ม (Trend Studies) เช่น การศึกษาถึงแนวโน้มของอาชีพที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดสกลนครอีก15 ปีข้างหน้า การจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในทศวรรษหน้า เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น